lifetravel http://gotravel.siam2web.com/

     ตราประจำจังหวัดแต่เดิมเป็นอาร์ม (Arm) วงกลม ใช้สัญลักษณ์รูปน้ำหลากทุ่ง มีภูเขาเป็นฉากหลัง ล้อมรอบด้วยงูใหญ่   ส่วนท้องฟ้าเหนือภูเขานั้นมีตราครุฑซึ่งใช้เป็นตราแผ่นดินและเครื่องหมายของทางราชการ กำกับด้วยข้อความว่า “จังหวัดราชบุรี”   ที่ตอนล่างภายในกรอบอาร์ม หมายความถึง “เขางู” อันเป็นสถานที่สำคัญและรู้จักกันอย่างแพร่หลายทั้งในหมู่ชาวราชบุรีเองและชาวจังหวัดใกล้เคียง
ตราประจำจังหวัดดังกล่าวเริ่มปรากฏใช้ครั้งแรกเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๐   สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นคราวเดียวกับที่กระทรวงศึกษาธิการได้ฟื้นฟูกิจการลูกเสือแห่งชาติโดยขอความร่วมมือให้แต่ละจังหวัดกำหนดตราสัญลักษณ์ขึ้น   เพื่อใช้เป็นเครื่องหมายสำหรับติดผ้าพันคอแสดงภูมิลำเนาของกองลูกเสือซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดนั้นๆ
จังหวัดราชบุรีได้ใช้สัญลักษณ์ “เขางู” เป็นตราประจำจังหวัดตั้งแต่นั้นมา   จนกระทั่งถึงปีพุทธศักราช ๒๕๐๙ จึงเห็นว่า  “เขางู” นั้นสื่อความหมายไปในแง่ของโบราณสถาน มิได้มีความหมายเกี่ยวพันกับชื่อของจังหวัดว่า “ราชบุรี”(บาลี,ราช + ปรุ  หมายถึง เมืองแห่งพระราชา)   แต่ประการใดจึงเป็นการสมควรที่จะกำหนดสัญลักษณ์ประจำจังหวัดแทนตราเดิมที่ใช้อยู่   โดยได้มีหนังสือแจ้งความประสงค์ไปยังกรมการปกครองขอให้กรมศิลปากรพิจารณาออกแบบให้ต่อไป


 

   

     สำหรับดวงตราใหม่นั้นทางกรมศิลปากรได้มอบหมายให้งานศิลปประยุกต์กองหัตถศิลปะ (ปัจจุบันเป็นสถาบันศิลปกรรม) โดยนายพินิจ   สุวรรณบุณย์ เป็นผู้คิดค้นออกแบบ  ลักษณะของดวงตราเป็นอาร์มวงกลมใช้สัญลักษณ์รูปเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของพระมหากษัตริย์ ๒ สิ่งคือ   พระแสงขรรค์ชัยศรีประดิษฐานอยู่บนบันไดแก้ว  และฉลองพระบาทคู่ประดิษฐานอยู่บนพานรองขอบอาร์มเป็นลายชื่อกนกประกอบพื้นช่องไฟใช้สีตามความเหมาะสมสวยงามด้านศิลปะ   ทั้งนี้ได้แนวความคิดมาจากหลักฐาน  “รูปฉลองพระบาทคู่ประดิษฐานอยู่บนพานรอง” ที่ปรากฏบนผืนธงซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว   ได้พระราชทานให้แก่กองเสือป่ามณฑลราชบุรี เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๖๗   ซึ่งปัจจุบันธงข้างต้นเก็บรักษาไว้ที่ห้องพิพิธภัณฑ์ของโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี
จังหวัดราชบุรีโดยสภาจังหวัดได้มีมติเห็นชอบและอนุมัติให้ใช้ตราสัญลักษณ์ใหม่นี้เป็นตราประจำจังหวัดเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๐๙   เป็นต้นมาตราบจนปัจจุบันนี้

ความหมายของตราประจำจังหวัดราชบุรี
เครื่อง ราชกกุธภัณฑ์ 2 อย่างคือ
1. ภาพฉลองพระบาทอยู่บนพานทอง
2. ภาพพระแสงขรรค์ชัยศรี ซึ่งวางอยู่บนพระที่ เพราะชื่อจังหวัดราชบุรี มีความหมายว่า เมืองของพระราชา

ที่มา: http://www.paktho.ac.th/ratchaburi/ratchaburi1/the-brand-is-provincial.html



   
   

ธงประจำกองลูกเสือมณฑลราชบุรี

มณฑลราชบุรี พื้นธงสีน้ำเงินแก่ กลางธงมีรูปรองพระบาทวางบนพานทอง เพื่อให้ลูกเสือทุกคนระลึกว่า มณฑลนี้เป็นมณฑลสำคัญทางทิศตะวันตกของกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับมณฑลปราจีนซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก และลูกเสือทุกคนก็มีความจงรักภักดีเพื่อทำการฉลองพระเดชพระคุณ จึงพระราชทานเครื่องหมายนี้เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงพระองค์อยู่เสมอ ธงนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๗ เนื่องในการเสด็จทอดพระเนตรการประลองยุทธเสือป่าและลูกเสือ

คำขวัญจังหวัดราชบุรี

คนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง เมืองโอ่งมังกร วัดขนอนหนังใหญ่ ตื่นใจถ้ำงาม ตลาดน้ำดำเนิน เพลินค้างคาวร้อยล้าน ย่านยี่สกปลาดี

ที่มาของคำขวัญคำขวัญจังหวัดราชบุรีนี้เริ่มใช้เมื่อจังหวัดราชบุรีเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติครั้งที่ 5 และงานมหกรรมของดีเมืองราชบุรี พ.ศ. 2532 ซึ่งในความหมายของคำขวัญนั้นสามารถนำมากล่าวได้ดังนี้
คนสวยโพธาราม สันนิษฐานว่าคงมีที่มาจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในคราวเสด็จพระราชดำเนินกลับจากประพาสไทรโยคทางชลมารคครั้งที่ 3 ในปี พ.ศ.2431แล้วได้ประทับพักร้อนบนพลับพลาและเสด็จประพาสตลาดโพธาราม ซึ่งราษฎรทั้งชาวไทย จีน มอญ และลาวเฝ้ารับเสด็จด้วยเครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับสวยงสมจนมีพระราชดำรัสชมว่า “คนโพธารามนี้สวย” หรืออีกนัยหนึ่งหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้อธิบายไว้ว่าเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินนำกองเสือป่าไปซ้อมรบที่ค่ายหลวงบ้านไร่อำเภอโพธาราม ได้มีราษฎรชาวโพธารามรับเสด็จถวายการรับใช้อย่างใกล้ขิด จึงมีพระราชดำรัสชมว่า “คนสวยโพธารามสวยมีน้ำใจดี”

ดอกไม้ประจำจังหวัดราชบุรี

คนงามบ้านโป่ง สันนิษฐานว่าคงมีที่มาจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในคราวเสด็จพระราชดำเนินกลับจากประพาสไทรโยคทางชลมารคครั้งที่ 3 ในปี พ.ศ. 2431 ขณะพระราชดำเนินถึงบ้านโป่งนายอำเภอนำราษฎรไปเฝ้ารอรับเสด็จเป็นจำนวนมาก เมื่อเสด็จขึ้นฝั่งทรงเห็นราษฎรที่มาเฝ้าแต่งกายเรียบร้อบและหมอบกราบกันอย่างพร้อมเพรียงสวยงามจึงมีพระราชดำรัสชมว่า”คนบ้านโป่งนี้งาม” ทั้งนี้คำขวัญที่ว่า “คนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง” นั้นเป็นคำขวัญที่บ่งบอกถึงจริยธรรมอันดีงามของชาวโพธารามและชาวบ้านโป่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นผู้มีน้ำใจไมตรีอันดีงาม พูดจาไพเราะ และงามพร้อมด้วยกิริยามารยาท

เมืองโอ่งมังกร ที่มามาจากการที่ราชบุรีเป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงด้านอุตสาหกรรมผลิตเครื่องเคลือบดินเผาที่มีคุณภาพโดยเฉพาะโอ่งมังกรซึ่งมีประวัติการผลิตที่ยาวนานและเป็นที่รู้จักกันดีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดราชบุรีในปัจจุบัน

วัดขนอนหนังใหญ่ มีที่มาจากการที่หนังใหญ่วัดขนอน ตำบลสร้อยฟ้า อำเภอโพธาราม นับเป็นหนังใหญ่ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่ามีการสืบทอดกันมายาวนานนับเป็นร้อยปีและมีการอนุรักษ์กันอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ตลอดจนเป็นหนังใหญ่ที่หลงเหลืออยู่เพียงไม่กี่คณะในประเทศไทยที่ยังคงมีการสืบทอดอยู่ในปัจจุบัน

ตื่นใจถ้ำงาม มีถ้ำที่งดงามมาก ๆ อยู่หลายแห่ง แต่ที่ขึ้นชื่อคือถ้ำเขาบิน และถ้ำจอมพล

ตลาดน้ำดำเนิน
ตลาดน้ำดำเนินสะดวก หรือ ตลาดน้ำคลองลัดพลี ตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอดำเนินสะดวกไปประมาณ 400 ม. เป็นตลาดค้าขายทางน้ำที่ยังคงวิถีชีวิตไทยดั้งเดิมไว้ มีสิ่งของให้เลือกมากมาย โดยเฉพาะผลิตผลทางการเกษตร

เพลินค้างคาวร้อยล้าน
ค้างคาวเขาช่องพราน เวลาเย็นที่ค้างคาวจะบินออกจากถ้ำมาให้ชม นับจำนวนไม่ได้ ใช้เวลาบินออกจากถ้ำเป็นชั่วโมงกว่าจะหมด ประมาณกันว่ามีจำนวนเป็นร้อยล้านตัว

ย่านยี่สกปลาดี
ปลายี่สก เป็นปลาที่ขึ้นชื่อของลุ่มน้ำแม่กลอง แต่ว่ากันว่ารสชาติของปลาจะดีที่สุดเมื่อมาเจริญเติบโตในแถบจังหวัดราชบุรี
*ที่มา : http://www.paktho.ac.th/ratchaburi/ratchaburi1/province%20slogan.html

   
Advertising Zone    Close


Online: 1 Visits: 4,160 Today: 4 PageView/Month: 4

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...